5 ธ.ค. 2553

แนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง


“...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย

ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน
และขอให้ทุกคนมีความปรารถนา ที่จะให้เมืองไทย
พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐาน
ตั้งปณิธานในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน
ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน
มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ
ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้...”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗



“...ภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในหลายประเทศเปลี่ยนแปลงไป
กล่าวคือ การทุ่มเทสร้างเครื่องจักรกลอันก้าวหน้า
และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นใช้ในการผลิตทำให้ผลผลิต
ทางอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นรวดเร็วและมากมาย
จนอาจถึงขั้นฟุ่มเฟือย พร้อมกันนั้นก็ทำให้คนว่างงานลง
เพราะถูกเครื่องจักรกล แย่งไปทำ เป็นเหตุให้เกิดความยุ่งยาก
ตกต่ำทางเศรษฐกิจขึ้น เพราะคนที่ว่างงานยากจนลง
และผู้ผลิตก็ขาดทุนเพราะสินค้าขายไม่ออก จึงน่าจะต้อง
ดัดแปลงแนวคิดแนวปฏิบัติในการส่งเสริมความเจริญ
ด้านอุตสาหกรรมไปบ้างให้สมดุลกับด้านอื่นๆ เพื่อความอยู่รอด...”

พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๘



“...ตามปกติคนเราชอบดูสถานการณ์ในทางดี ที่เขาเรียกว่าเล็งผลเลิศ
ก็เห็นว่าประเทศไทยเรานี่ก้าวหน้าดี การเงิน การอุตสาหกรรม
การค้าดีมีกำไร อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่า เรากำลังเสื่อมลงไป
ส่วนใหญ่ทฤษฎีว่า ถ้ามีเงินเท่านั้น ๆ มีการกู้เท่านั้น ๆ หมายความว่า
เศรษฐกิจก้าวหน้าแล้วก็ ประเทศก็เจริญมีหวังว่าจะเป็นมหาอำนาจ
ขอโทษเลยต้องเตือนเขาว่า จริงตัวเลขดี แต่ว่าถ้าเราไม่ระมัดระวัง
ในความต้องการพื้นฐานของประชาชนนั้น ไม่มีทาง...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖



“...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน
แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง...

...ความพอเพียงนี้ ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว
จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้อง
มีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ
ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก
อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัยจริงอาจจะล้าสมัย
คนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่า
เป็นเศรษฐกิจการค้าไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา
แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่าผลิตให้พอเพียง ได้...

...ถ้า สามารถที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง
ไม่ต้องทั้งหมดแม้แต่ครึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้
การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่าย ๆ โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน
แต่ถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ก็สามารถที่จะแก้ไขได้...”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐



“...คำว่าพอเพียง มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก
ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้ของเท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน...
พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง...”

“...พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้
แต่ว่าพอแม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข
ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ...”

“...Self-Sufficiency นั้น หมายความว่า ผลิตอะไร มีพอที่จะใช้
ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง...”

“...คน เราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย
ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด
อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง
หมายความว่า พอประมาณไม่สุดโต่งไม่โลภอย่างมาก
คนเราก็อยู่เป็นสุข...”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑



“...เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกินพอมีพอกินนี้
ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกินก็ใช้ได้
ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้น
ก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกินบางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย...”

พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ
ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑



“...เศรษฐกิจพอเพียงนั้นเขาตีความว่าเป็นเศรษฐกิจชุมชน
หมายความว่าให้พอเพียงในหมู่บ้าน หรือในท้องถิ่น ให้สามารถที่จะมีพอกิน
เริ่มด้วย พอมี พอกิน พอมีพอกินนี้ได้พูดมาหลายปี ๑๐ กว่าปีมาแล้ว
ให้พอมีพอกิน แต่ว่าพอมีพอกินนี้ เป็นเพียงเริ่มต้นของเศรษฐกิจ
เมื่อปีที่แล้วบอกว่า ถ้าพอมีพอกิน คือ พอมีพอกินของตัวเองนั้น
ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจสมัยหิน
สมัยหินนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกันแต่ว่าค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมา...”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒



“...เศรษฐกิจ พอเพียงที่ได้ย้ำแล้วย้ำอีก แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า
Sufficiency Economy ภาษาไทยก็ต่อว่าไม่มี Sufficiency Economy
แต่ว่าเป็นคำใหม่ของเราก็ได้ ก็หมายความว่า ประหยัด แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว
ทำอะไรด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจ
พอเพียงแล้วทุกคนจะมีความสุขแต่พอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติยากที่สุด...”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๓



“...ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียง ความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสม
กับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ ๒๐๐-๓๐๐ บาทขึ้นไป
เป็น ๒ หมื่น ๓ หมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียง
ไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียง คือ ทำเป็น Self-Sufficiency
มันไม่ใช่ความหมาย ไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิด คือ
เป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดู TV
ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อ TV ดู เขาต้องการดูเพื่อสนุกสนาน
ในหมู่บ้านไกล ๆ ที่ฉันไป เขามี TV ดู แต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า
แต่ถ้า Sufficiency นั้น มี TV เขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือน
คนไม่มีสตางค์ไปตัด Suit และยังใส่ Necktie Versace อันนี้ก็เกินไป...”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทาน ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข
วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๔



การประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแนวพระราชดำริ เรื่อง
เศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้นั้น
กระชับและชัดเจนยิ่ง
นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อ
ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราช ดำริ (กปร.) ยังได้กล่าวสรุป
ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ดังนี้
“เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง
(Self-Sufficiency) อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน ซึ่งต้องสร้างพื้นฐาน
ทางด้านเศรษฐกิจของตนเองให้ดีเสียก่อน
คือให้ตนเองสามารถอยู่ได้อย่างพอกินพอใช้ มิได้มุ่งหวังที่จะสร้างความเจริญ
ยกเศรษฐกิจให้เจริญอย่างรวดเร็วแต่เพียงอย่างเดียว”
จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย
มีความหมายที่ ชัดเจน ไม่ยากแก่การรับรู้และการนำไปปฏิบัติ ดังจะเห็น
เป็นรูปธรรมที่ปรากฏชัดเจนในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ที่เกิดผลสำเร็จแล้วมากมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น